โครงการ วมว. คณะวิทยาศาสตร์
หลักเกณฑ์/แนวทางปฏิบัติในการเป็นนักเรียนโครงการ วมว. ระยะที่ 3 สำหรับใช้กับนักเรียนโครงการ วมว. ตั้งแต่ปีการศึกษา 2564 เป็นต้นไป
1. เกณฑ์การสำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรระดับมัธยมศึกษาตอนปลายของโครงการ วมว.
1) นักเรียนที่สามารถรักษาสภาพการเป็นนักเรียนในโครงการ วมว. ตั้งแต่มัธยมศึกษาปีที่ 4 ภาคการศึกษาที่ 1 จนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ภาคการศึกษาที่ 2
2) ผ่านการประเมินเกี่ยวกับการอ่าน คิดวิเคราะห์ เขียน ตามเกณฑ์ที่โรงเรียนกำหนด
3) ผ่านการประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ รวมทั้งการมีจิตสาธารณะที่รับใช้สังคมตามเกณฑ์ที่โรงเรียนกำหนด
4) ทำโครงงานและเสนอผลการทำโครงงานอย่างน้อย 1 เรื่อง และต้องได้รับผลการประเมินขั้นต่ำ “ผ่าน”
5) เข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนที่หลากหลายตามความถนัดและความสนใจตามเกณฑ์ขั้นต่ำที่โรงเรียนกำหนด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจกรรมเสริมหลักสูตร เพื่อเพิ่มศักยภาพความเป็นผู้นำที่ดีมีคุณธรรมและจริยธรรมของสังคม
6) เข้าร่วมกิจกรรมเข้าแถวเคารพธงชาติและพบครูที่ปรึกษาประจำชั้นตามที่โรงเรียนกำหนด
7) สามารถพักอยู่ในโรงเรียนหรือสถานที่ที่โรงเรียนจัดไว้ให้ในลักษณะโรงเรียนประจำได้ และยินดีปฏิบัติตามระเบียบของโรงเรียนในปัจจุบัน หรือที่จะได้มีการกำหนดในอนาคต
8) สำหรับกรณีที่นอกเหนือจากหลักเกณฑ์ในข้อ 1 - 7 ให้เสนอคณะกรรมการบริหารโครงการ วมว. พิจารณาเป็นรายๆ ไป
2. เกณฑ์การรักษาสภาพการเป็นนักเรียนในโครงการ วมว.
1) นักเรียนต้องปฏิบัติตามเกณฑ์ ตามข้อ 1
2) มีผลการศึกษา ดังนี้ “นักเรียนในโครงการ วมว. จะผ่านเกณฑ์การรักษาสภาพการเป็นนักเรียนในโครงการ วมว. ได้ต้องมีคะแนนเฉลี่ยสะสมรวมทุกวิชา ไม่ต่ำกว่า 2.50 รวมทั้งคะแนนเฉลี่ยสะสมรวมในรายวิชาวิทยาศาสตร์และรายวิชาคณิตศาสตร์ไม่ต่ำกว่า 3.00 ในแต่ละภาคการศึกษา หากนักเรียนคนใดมีผลระดับคะแนนการเรียนต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดจะมีสภาพรอพินิจที่ต้องแก้ไขภายใน 1 ภาคการศึกษา” กรณีนักเรียนไม่สามารถรักษาสภาพการเป็นนักเรียนในโครงการ วมว. ตามเกณฑ์ฯ ข้อ 2.2 ที่กำหนดได้ นักเรียนผู้นั้นสามารถเรียนอยู่ในห้องวิทยาศาสตร์ของโครงการ วมว. เช่นเดิมได้ โดยไม่ได้รับเงินสนับสนุนค่าใช้จ่ายส่วนบุคคลจากโครงการตามที่คู่มหาวิทยาลัย-โรงเรียนกำหนด และไม่มีสิทธิ์รับใบประกาศนียบัตรของโครงการ วมว. แต่โรงเรียนสามารถออกใบรับรองจากโรงเรียนหรือระบุในใบ ปพ. ว่านักเรียนสำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรของโครงการ วมว. ทดแทนได้ ซึ่งมิได้หมายความรวมถึงการสำเร็จการศึกษาในสถานะการเป็นนักเรียนโครงการ วมว. และให้โรงเรียนทำความตกลงกับผู้ปกครองของนักเรียน เพื่อแสดงความยินยอมให้นักเรียนเรียนต่อไปโดยผู้ปกครองจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนบุคคลของนักเรียน
3. การพ้นสภาพการเป็นนักเรียนในโครงการ วมว.
1) นักเรียนไม่สำเร็จการศึกษา และ/หรือไม่ปฏิบัติตามเกณฑ์การสำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรระดับมัธยมศึกษาตอนปลายของโครงการ วมว.
2) นักเรียนไม่สามารถรักษาสภาพการเป็นนักเรียนตามเกณฑ์การรักษาสภาพการเป็นนักเรียนในโครงการ วมว.
3) นักเรียนที่ได้รับการคัดเลือกในโครงการ วมว. และ/หรือ กำลังศึกษาอยู่จะต้องไม่ไปสมัครสอบคัดเลือกเข้าศึกษาในสถาบันอื่นใดทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยไม่ได้รับความเห็นชอบของโครงการ วมว. แล้วแต่กรณี มิฉะนั้นจะถูกถอนสิทธิ์ หรือให้พ้นสภาพการเป็นนักเรียน เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากโครงการ วมว.
4) นักเรียนขอลาออก
5) นักเรียนถูกให้ออก
6) นักเรียนไม่สามารถปฏิบัติตามหลักเกณฑ์/แนวปฏิบัติของโครงการ วมว. ได้ด้วยเหตุสุดวิสัยหรือเจ็บป่วยร้ายแรงที่ได้รับการรับรองจากแพทย์
4. การลาพักการศึกษาของนักเรียนในโครงการ วมว.
1) นักเรียนสามารถลาพักการศึกษาได้ด้วยเหตุต่อไปนี้
(1.1) เจ็บป่วย
(1.2) ได้ทุนแลกเปลี่ยนนักเรียนของโครงการอื่น
(1.3) เหตุจำเป็นอื่นๆ ที่ได้รับอนุมัติจากโครงการ วมว. ของมหาวิทยาลัยร่วมกับโรงเรียนในการลาพักการศึกษาของนักเรียนให้มีเอกสาร/หลักฐาน เพื่อประกอบการพิจารณา ดังนี้
- ความเห็นของแพทย์ (ใบรับรองแพทย์)
- ความเห็นของผู้ปกครอง
- ความเห็นของอาจารย์ที่ปรึกษา
2) ระยะเวลาการลาพักการศึกษาให้ลาได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม แต่ต้องไม่เกิน 1 ปี
3) เมื่อนักเรียนได้รับอนุมัติพักการเรียนแล้ว ให้ดำเนินการ
(3.1) ลงทะเบียนรักษาสภาพการเป็นนักเรียน (ถ้ามี)
(3.2) ก่อนครบกำหนดระยะเวลาพักการศึกษาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 15 วัน ให้นักเรียนยื่นคำขอกลับเข้าเรียน และเมื่อได้รับอนุมัติแล้วให้สามารถกลับเข้าเรียนได้ ทั้งนี้ หากนักเรียนไม่ติดต่อสถานศึกษาภายในกำหนดเวลา 15 วัน นับจากวันที่ครบกำหนดให้พักการเรียน ให้ถือว่าเป็นการพ้นสภาพการเป็นนักเรียนโครงการ วมว.
5. การเรียกเงินสนับสนุนคืนมีหลักเกณฑ์ดังนี้
1) กรณีนักเรียนโครงการ วมว. ขอลาออกในกรณีใดๆ ก็ตาม หรือนักเรียนพ้นสภาพการเป็นนักเรียนในโครงการ วมว. ตามข้อ 3.1 และ 3.3 มหาวิทยาลัยและโรงเรียนจะพิจารณาเรียกเงินสนับสนุนคืนตามที่มหาวิทยาลัยได้สนับสนุนให้นักเรียนเป็นการเฉพาะบุคคลไป หรือจะพิจารณาเรียกเงินสนับสนุนเต็มจำนวนตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมได้สนับสนุนเป็นรายบุคคล แล้วแต่กรณี
ทั้งนี้ นักเรียนและผู้ปกครองผู้รับเงินสนับสนุน และ/หรือผู้ค้ำประกันจะต้องชำระเงินสนับสนุนคืนให้ครบถ้วนตามจำนวนตามที่มหาวิทยาลัยและโรงเรียนกำหนดภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากมหาวิทยาลัยร่วมกับโรงเรียนในโครงการ วมว. หากไม่ชำระเงินดังกล่าวหรือชำระไม่ครบภายในกำหนดเวลาดังกล่าว นักเรียนและผู้ปกครองผู้รับเงินสนับสนุน และ/หรือ ผู้ค้ำประกันยินยอมให้คิดดอกเบี้ยจากเงินที่ค้างชำระในอัตราดอกเบี้ยสูงสุดต่อปีตามที่กฎหมายกำหนด นับแต่วันครบกำหนดชำระจนถึงวันที่ชำระหนี้เสร็จสิ้นครบถ้วนแล้ว2) นักเรียนผู้รับเงินสนับสนุนไม่ต้องชดใช้เงินสนับสนุนคืน หากได้รับความเห็นชอบเป็นลายลักษณ์อักษรตามดุลยพินิจของมหาวิทยาลัยร่วมกับโรงเรียน ในกรณีต่อไปนี้
(2.1) นักเรียนเสียชีวิต ทุพพลภาพ ตกเป็นผู้ไร้ความสามารถหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
(2.2) นักเรียนไม่สามารถปฏิบัติตามหลักเกณฑ์/แนวปฏิบัติของโครงการ วมว. ได้ด้วยเหตุสุดวิสัยหรือเจ็บป่วยร้ายแรงที่ได้รับการรับรองจากแพทย์
(2.3) นักเรียนพ้นสภาพการเป็นนักเรียนในโครงการ วมว. ตามข้อ 3.2
หมายเหตุ อ้างอิงตามตามมติที่ประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการสนับสนุนการจัดตั้งห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียน โดยการกำกับดูแลของมหาวิทยาลัย ครั้งที่ 5/2562 เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2562 และ ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2563