โครงการ วมว.

ศูนย์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

# 045-353401-2 ต่อ 4650







หลักการของหลักสูตร


โครงการ วมว. คณะวิทยาศาสตร์

หลักการของหลักสูตร

      หลักสูตรห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนลือคำหาญวารินชำราบ โดยการกำกับดูแลของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พ.ศ. 2564 นี้ เป็นหลักสูตรเล่มที่ 3 โดยเล่มที่ 1 หลักสูตร พ.ศ. 2558 ที่มีจุดเน้นทางวิชาการเป็น “การเรียนการสอนและการวิจัยด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (Energy and Environment) โดยการบูรณาการความรู้ในสาขาต่างๆ เพื่อพัฒนาพลังงาน และคุณภาพสิ่งแวดล้อม” และเล่มที่ 2 หลักสูตร พ.ศ. 2561 ที่มีจุดเน้นทางวิชาการเป็น “การเรียนการสอนและการวิจัยด้านระบบอัจฉริยะ (Smart System) และเน้นการจัดสาระการเรียนรู้ให้หลากหลายและมีความยืดหยุ่น เพื่อให้ผู้เรียนได้พัฒนาการเรียนรู้เต็มความสามารถตามความถนัดและความสนใจของตนเอง” สำหรับเล่มที่ 3 หลักสูตร พ.ศ. 2564 ได้มีการนำความโดดเด่นและความสำเร็จจากการจัดการเรียนการสอนตามจุดเน้นทางวิชาการของหลักสูตรเล่มที่ 1 และเล่มที่ 2 มาบูรณาการเข้ากับแนวโน้มและแนวทางของการจัดการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์สำหรับเยาวชนที่มีประสิทธิภาพและได้รับความนิยมในปัจจุบัน ทำให้หลักสูตร พ.ศ. 2564 มีจุดเน้นทางวิชาการเป็น “การเรียนการสอนและการวิจัยแบบสตีมศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม” (STEAM Education for Development of Quality of life and Environment) ซึ่งการเรียนการสอนตามแนวทางสตีมศึกษา (STEAM Education) จะเป็นการประยุกต์องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์จากงานวิจัยที่โดดเด่นของคณะวิทยาศาสตร์และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีที่เป็นผลสำเร็จมาจากหลักสูตร พ.ศ. 2557 (Science: S) และเทคโนโลยีที่เน้นระบบอัจฉริยะหรือการใช้สมาร์ทโฟนเป็นตัวช่วยที่เป็นผลสำเร็จจากหลักสูตร พ.ศ. 2561 (Technology: T) มาบูรณาการเข้ากับความรู้และกระบวนการออกแบบเชิงวิศวกรรมผ่านการร่วมงานกับคณะวิศวกรรม (Engineering: E) นอกจากนี้ ยังจะมีการบูรณาการศิลปวัฒนธรรมและผลิตภัณฑ์อันโดดเด่นเพื่อเสริมอัตลักษณ์และพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมของจังหวัดอุบลราชธานี (Art: A) ตลอดจนการนำความรู้และทักษะด้านคณิตศาสตร์ (Mathematics: M) เข้ามาบูรณาการอย่างเหมาะสมเพื่อเป็นฐานในการทำโครงงานและการวิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ หลักสูตร พ.ศ. 2564 นี้จะเน้นการจัดการเรียนการสอน การทำโครงงานวิจัย การปฏิบัติการและกิจกรรมทั้งในและนอกหลักสูตรเพื่อให้พัฒนานักเรียนให้มีทักษะ ประสบการณ์ และการคิดวิเคราะห์ในด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี การออกแบบเชิงวิศวกรรมและศิลปะ โดยได้จัดให้มีวิชาปฏิบัติการ เคมี ชีววิทยา ฟิสิกส์ และคอมพิวเตอร์ เป็นรายวิชาเพิ่มเติมที่บังคับเลือก และยังจัดให้มีรายวิชาเสริมจุดเน้น (บังคับ) รายวิชาเสริมจุดเน้น (เลือก) และรายวิชาเสริมจุดเน้น (เลือกด้านภาษา) อย่างหลากหลายและยืดหยุ่นเพื่อให้ผู้เรียนได้พัฒนาการเรียนรู้เต็มความสามารถตามความถนัดและความสนใจของตนเอง นอกจากนี้ ยังจัดให้มีรายวิชาเรียนล่วงหน้า (AP) ซึ่งเป็นรายวิชาของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่นักเรียนสามารถนำไปเทียบโอนรายวิชาเพื่อลดระยะเวลาสำหรับการเรียนในระดับปริญญาตรีบางหลักสูตรได้ สำหรับเกณฑ์การสำเร็จการศึกษา ได้ยึดถือตามระเบียบ และแนวปฏิบัติของโรงเรียนลือคำหาญวารินชำราบ รวมทั้งเกณฑ์การรักษาสภาพการเป็นนักเรียนโครงการ วมว.